Soft power

Soft power  โดเรมอน อิกคิวซัง โคนัน เครื่องมือสื่อสารแบรนด์ประเทศ เพื่อส่งต่อวัฒนธรรม

ต้องยอมรับเลยว่า กระแส Soft power กำลังเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจ จนกลายเป็นเรื่องลำดับต้นๆ ที่ทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาหาจุดขายใหม่ๆ ให้กับประเทศจนหลายครั้งก็กลายเป็นความเข้าใจที่เบี่ยงเบนไปว่า Soft power คือวัฒนธรรมที่เราอยากจะขาย ซึ่งถ้าจะลองให้นิยามจริงๆ แล้วคำว่า Soft power มันน่าจะมีความหมายที่กว้างใหญ่กว่า

Soft power อาจไม่ใช่แค่วัฒนธรรมเท่านั้น เพราะมันคือกระบวนการสร้างพาหนะนำสาร ซึ่งเสมือนเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความใกล้ชิดกับผู้คน

Soft power คือรูปแบบกลยุทธ์ในการสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ส่งต่อภาพลักษณ์ และผนวกสินค้าทางวัฒนธรรมต่างๆ เข้าไป โดยเจ้าตัว Soft power เองนั้นอาจไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเองก็ได้ Soft power อาจเป็นกลยุทธ์การให้ทุนแลกเปลี่ยนทางการศึกษา ในรูปแบบที่เราเคยเห็นกันในอดีต ที่มีทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนไปสหรัฐอเมริกา หรือไปในประเทศยุโรปในหลายๆ ประเทศ หรืออาจเป็นเรื่องราวของการสร้างความบันเทิงในด้านต่างๆ ที่คนทั้งโลกสามารถเกิดประสบการณ์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงร็อกแอนด์โรล หรือภาพยนตร์จากฮอลลีวูด 

ขอลองยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆ จากจุดเริ่มต้นการสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ในอดีตของการเป็นประเทศคู่สงคราม ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างมากมาย เรียกได้ว่ามีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้ร้ายในสังคมโลกแบบสุดๆแต่หลังจากกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ก็เกิดกระบวนการ มีความพยายามปรับภาพลักษณ์ประเทศ โดยที่เรานั้นไม่อาจรู้ได้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นกลยุทธ์ซึ่งถูกวางแผนระยะยาวไว้ หรือว่าเป็นเพราะความพอเหมาะพอดีที่สินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นซึ่งได้รับความนิยมในเวลานั้น มันเป็นเรื่องราวของการ์ตูนภาพเคลื่อนไหวแบบอนิเมะ

ด้วยกระแสความนิยมชมชอบ รวมทั้งการตอบรับของผู้ชมกับการ์ตูนญี่ปุ่น มันสามารถช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน และส่งเสริมภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นให้ดีขึ้นไปแบบช้าๆ ตามกระบวนการแบบ Soft power

การ์ตูนกลายเป็นพาหนะนำทาง ช่วยสื่อสารวัฒนธรรม และสร้างความใกล้ชิดระหว่างญี่ปุ่นกับคนทั่วทั้งโลกให้ค่อยๆ เกิดขึ้น และเป็นไปในทิศทางบวกด้วยพลังแห่งการ์ตูน ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นจากประเทศคู่สงคราม ค่อยๆ พลิกผันกลายเป็นประเทศที่แลดูอ่อนโยนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการยอมรับในวัฒนธรรม และความรู้สึกชื่นชอบในความเป็นญี่ปุ่น ก็ค่อยๆ ทยอยเกิดขึ้นตามมาและเมื่อผสมผสานกับความนิยมในการสร้างภาพยนตร์กลุ่มยอดมนุษย์ อุลตราแมน ไอ้มดแดง และขบวนการห้ามนุษย์ไฟฟ้า พาวเวอร์เรนเจอร์ต่างๆ ที่มีการผลิตส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็นับว่ามันเป็นการใช้ Soft power มาช่วยสื่อสารกับชาวโลก ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการปกป้องผู้อ่อนแอจากผู้ร้าย ช่วยเปลี่ยนภาพจากผู้ร้ายคนเก่าจากสงครามโลก ให้กลายเป็นพระเอกของจักรวาลใหม่ นับเป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลในด้านบวกอันทรงประสิทธิภาพยิ่ง 

ย้อนกลับมาถึง กระแสความนิยมในการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพาหนะชั้นดีในการช่วยสื่อสารวัฒนธรรมญี่ปุ่น ช่วยเพิ่มความเข้าใจในชีวิต ความเชื่อของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเพณี อาหาร การแต่งกาย และแบรนด์สินค้าสารพัน

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ การ์ตูนอย่างโดราเอมอนนั้นสามารถช่วยลบภาพความรุนแรง ช่วยสื่อสารรูปแบบสังคมครอบครัวญี่ปุ่นที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว เสริมภาพลักษณ์เรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนความทันสมัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันช่างสอดรับกับห้วงเวลาที่สินค้าเทคโนโลยีของญี่ปุ่นกำลังออกตีตลาดโลกในแบรนด์หลากหลาย ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า โซนี่ ฮิตาชิ และพานาโซนิค

Scroll to Top